บทนำ
ท่านมหาสีสยาดอ ได้รจนาหนังสือไว้เป็นจำนวนมาก อาทิ ปฏิจจสมุปบาท สีลวันตสูตร ภารสูตร ตุวฏกสูตร ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร สัลเลขสูตร อริยอัฏฐังคิกมรรค อริยวสสูตร วิปัสสนานัย อนัตตลักขณสูตร มหาสติปัฏฐานสูตรนิสสัย วัมมิกสูตร หนทางแห่งวิปัสสนา และอื่น ๆ
ผมเลื่อมใสศรัทธาท่านเป็นอย่างยิ่ง ในความอาจหาญ ความแม่นยำ ความเด็ดขาด และภูมิปัญญาอันเฉียบแหลมของท่านพระอาจารย์ อรรถาธิบายของท่านล้วนลุ่มลึกและพึงจดจำใส่ใจยิ่งนัก ผมจึงเรียบเรียงเป็นหนังสือเล็ก ๆ เล่มนี้ และใช้ชื่อว่า “Mahasi Sayadaw’s Analysis of Today’s Vipassana Techniques” (วิเคราะห์วิธีเจริญวิปัสสนากรรมฐานในปัจจุบัน โดย มหาสีสยาดอ) ซึ่งยกประเด็นคำถามต่างๆที่ท่านพระอาจารย์ได้แสดงทัศนะและวิสัชนาไว้ดีแล้ว
สามเณรจ่อ
(Tharmanaykyaw)
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๓
ถาม : หากไม่เคยเรียนอภิธรรมและปฏิจจสมุปบาท จะเจริญวิปัสสนาได้หรือ ?
จูฬตัณหาสังขยสูตร ที่ว่าด้วยข้อปฏิบัติเพื่อความสิ้นตัณหา ชี้ชัดว่า เราสามารถเจริญวิปัสสนาได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเรียนพระอภิธรรม หรือ ปฏิจจสมุปบาท (ว่าด้วยการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น) หากเรารู้ว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่จริงนั้นหาใช่อื่นใดนอกจากใจและกาย ซึ่งไม่เที่ยงถาวร บีบคั้นทนได้ยาก และปราศจากความเป็นตัวตน เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
ส่วนเรื่องปฏิจจสมุปบาท สิ่งเดียวที่เราต้องรู้ก็คือว่า ไม่มีปัจเจกบุคคลใด ๆ อยู่จริง เป็นแต่เพียงปฏิสัมพันธ์ของเหตุและผล ไม่จำเป็นจะต้องศึกษาแจกแจงตามนัยแห่งองค์ ๑๒ หรืออาการ ๒๐ แต่อย่างใด มิฉะนั้น พระจูฬปันถกเถระ คงไม่อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์ผู้รู้แจ้งได้ เพราะเพียงพระบาลีคาถาเดียวที่ประกอบด้วย ๔ บาท บาทละ ๑๑ พยางค์ รวมเป็น ๔๔ พยางค์ ท่านก็ยังท่องจำไม่ได้ แม้จะพยายามอยู่นานถึง ๔ เดือนแล้วก็ตาม ท่านจึงไม่เคยเรียนปฏิจจสมุปบาทหรือพระอภิธรรมเลย ถึงกระนั้นท่านกลับสามารถบรรลุอรหัตตผลได้ในช่วงเช้าวันเดียว ด้วยการลูบคลำผ้าขาวผืนหนึ่งพลางบริกรรมว่า “รโชหรณํ รโชหรณํ” (เช็ดฝุ่น เช็ดฝุ่น)
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ นางมาติกมาตา มหาอุบาสิกา นางไม่เคยรู้เลยว่าคณะภิกษุสงฆ์ที่นางอุปัฏฐากอยู่นั้นเจริญภาวนาอย่างไร ทว่า ขณะที่นางกำลังทำงานบ้าน พร้อมกับเจริญกรรมฐานที่ภิกษุเหล่านั้นสอนให้ ในภายหลัง นางก็ได้บรรลุอนาคามีมรรค (มรรคญาณขั้นที่ ๓) ก่อนพระอาจารย์ทั้งหลายของนางเสียอีก ทั้งนี้ นางซึ่งเป็นเพียงแม่บ้าน ย่อมไม่มีโอกาสได้เรียนอภิธรรมหรือปฏิจจสมุปบาทมาก่อนเป็นแน่ ในพระไตรปิฎก ยังมีกรณีตัวอย่างอีกมาก ที่สร้างความกระจ่างในประเด็นนี้ได้
ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า แม้มิได้เรียนพระอภิธรรมและปฏิจจสมุปบาทอย่างลึกซึ้ง ก็สามารถเจริญวิปัสสนาจนสำเร็จได้ ถ้าหากผู้นั้นเฝ้าสังเกตใจและกาย ณ ขณะที่ปรากฏ ตามคำแนะนำของวิปัสสนาจารย์
(“ปฏิจจสมุปบาท” โดย มหาสีสยาดอ)
ถาม : แล้วกรณีพระฉันนะที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์เมื่อได้เรียนปฏิจจสมุปบาทเล่า ?
มีครูบาอาจารย์บางท่านแสดงทัศนะว่า เราไม่อาจเจริญวิปัสสนาจนสำเร็จได้เลย หากไม่ได้เรียน ปฏิจจสมุปบาท โดยนัยต่าง ๆ การกล่าวเช่นนี้เป็นการบั่นทอนกำลังใจของผู้ปฏิบัติ (โยคี) อย่างยิ่ง และถือเป็นการทำลายพระศาสนาหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าอีกด้วย พระสูตรที่ท่านเหล่านั้นยกมาอ้างอิงปรากฏใน ขันธวรรค แห่งพระสุตตันตปิฎก
พระสูตรมีว่า หลังพุทธปรินิพพาน พระฉันนะจำต้องรับพรหมทัณฑ์ (กล่าวคือ เพื่อนภิกษุทั้งหลายจะไม่พึงปราศรัยหรือตักเตือนสั่งสอนท่าน) ต่อมาท่านสำนึกตนจึงคลายความถือตัว และเจริญภาวนาตามที่เหล่าพระเถระแนะนำ โดยให้พิจารณาความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไร้ซึ่งตัวตน ของปรากฏการณ์ทั้งปวง ทั้งที่เนื่องด้วยรูปธรรม ความรู้สึก ความจำได้หมายรู้ ความจงใจ และการรับรู้ต่าง ๆ แต่ด้วยความหลงยึดในความเป็นตัวตนอย่างเหนียวแน่น พระฉันนะจึงไม่อาจน้อมยอมรับความว่างเปล่าจากตัวตนได้ ท่านกลับสับสนและหวาดกลัวเมื่อพบว่าไม่มีตัวตนใด ๆ อยู่เลย ท่านสงสัยว่า หากผู้กระทำ (อัตตา) ไม่มีอยู่จริง แล้วใครเล่าจะเป็นผู้รับผลของกรรมต่าง ๆ ที่ได้ทำไว้ ดังนั้นท่านจึงหวนกลับไปยึดถือความเชื่อว่ามีตัวตนเช่นเดิม พระอรรถกถาจารย์ได้วินิจฉัยประเด็นนี้ไว้ ดังต่อไปนี้
ว่ากันว่า เมื่อพระฉันนะเริ่มเจริญวิปัสสนา ท่านยังไม่ประจักษ์ในเหตุปัจจัยของปรากฏการณ์ หรือกฎแห่งเหตุและผล ในขั้นวิปัสสนาที่หย่อนกำลัง (ทุพพลวิปัสสนา) นี้ นอกจากท่านจะยังไม่สามารถขจัดความยึดมั่นในอัตตาได้แล้ว ครั้นท่านได้ประสบกับความว่างเปล่าของปรากฏการณ์ทั้งปวง ท่านกลับเกิดความเห็นว่าขาดสูญ [อุจเฉททิฏฐิ–ผู้แปล] และเกิดความสะดุ้งกลัวว่า เราจักพินาศขาดสูญ คำว่า “วิปัสสนาที่หย่อนกำลัง” หมายถึง ยังไม่จัดเป็นวิปัสสนาที่แท้จริงซึ่งจะต้องเจริญขึ้นจากการสังเกตเห็นการเกิดขึ้นและดับไปของปรากฏการณ์อย่างต่อเนื่องจากขณะหนึ่งสู่อีกขณะหนึ่ง แต่เป็นแค่วิปัสสนาจากการคาดคิดจินตนาการเอาเท่านั้น
ในอรรถกถาเรียกวิปัสสนาจากจินตนาการเช่นนี้ว่า ทุพพลวิปัสสนา (วิปัสสนาที่หย่อนกำลัง) วิปัสสนาที่แท้จริงนั้นจะต้องเจริญขึ้นโดยลำดับ เริ่มจาก นามรูปปริจเฉทญาณ (ปัญญาหยั่งรู้จำแนกนามและรูป) และ ปัจจยปริคคหญาณ (ปัญญาหยั่งรู้ความเป็นเหตุปัจจัย) เป็นต้น วิปัสสนาเบื้องต้นเรียกว่า ตรุณวิปัสสนา (วิปัสสนาอย่างอ่อน) คืออยู่ในขั้นแรกเริ่ม แต่ไม่ใช่ทุพพลวิปัสสนา ในเมื่อความสับสนของพระฉันนะเกิดในขั้นวิปัสสนาที่หย่อนกำลังนี้เท่านั้น จึงไม่สมควรสรุปว่าโยคีไม่อาจเจริญวิปัสสนาได้โดยปราศจากความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท เพราะเป็นการบั่นทอนกำลังใจของผู้ที่กำลังเจริญวิปัสสนาโดยการสังเกตรูปนามในปัจจุบันขณะตามแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง หากผู้ใดกล่าวเช่นนั้นก็เท่ากับว่าผู้นั้นกำลังทำลายพระศาสนา
เมื่อสมาธิแก่กล้าขึ้นจากการตามดูปรากฏการณ์ของใจและกายในทันทีที่ปรากฏ โยคีจะเริ่มจำแนกใจ (นาม) และกาย (รูป) ได้ จากนั้นปัญญาหยั่งรู้ถึงเหตุปัจจัยจะเกิดขึ้นเอง เช่น โยคีจะรู้ชัดว่า การรับรู้ทางตาเป็นผลจากการสัมผัสระหว่างตาและสิ่งที่มองเห็น, การรับรู้ทางหูเกิดเพราะหูกระทบกับเสียง, เมื่อมีเจตนาที่จะไปจึงเกิดอาการไป, ความอยากถูกกระตุ้นได้ด้วยอารมณ์ที่คลาดจากการกำหนดรู้, ความยึดติดทำให้เกิดความพยายามที่จะสนองตอบความต้องการนั้น ๆ หรือกรรมดีเป็นเหตุให้ได้เสวยผลที่ดี เป็นต้น ลำดับต่อมาจะเกิดปัญญาหยั่งรู้ไตรลักษณ์คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวตน หากปัญญาหยั่งรู้เหตุปัจจัยไม่ปรากฏขึ้นก่อนแล้ว ย่อมไม่อาจเข้าถึงไตรลักษณ์ได้ ฉะนั้น แม้ไม่ได้เรียนปฏิจจสมุปบาทอย่างละเอียดลออมาก่อน ก็ใช่ว่าจะเกิดความสับสนขณะเจริญภาวนาเช่นเดียวกับพระฉันนะ
ในกาลต่อมา พระฉันนะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะสิ้นสงสัยทันทีที่ได้ฟังปฏิจจสมุปบาทจากพระอานนท์ ดังนั้นโยคีผู้เจริญกรรมฐานภายใต้การควบคุมดูแลของวิปัสสนาจารย์ ย่อมจะได้รับความรู้ที่จำเป็นจากการฟังคำแนะนำของท่าน และถ้าเกิดความสับสนหรือมีปัญหาในระหว่างปฏิบัติ ท่านก็ยังช่วยคลายข้อข้องใจนั้น ๆ ได้อีกด้วย โยคีผู้ปฏิบัติตามคำสอนของอาจารย์จึงไม่ต้องพะวงว่าตนมีความรู้พื้นฐานเพียงพอหรือไม่ หรือหากยังกังวลในเรื่องนี้อยู่ ก็พึงใคร่ครวญตามที่อาตมาชี้แจงแล้วนี้เถิด
สรุปได้ว่า เพียงเรารู้ว่าปรากฏการณ์ทางจิตและกายทั้งมวลล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และปราศจากความเป็นตัวตน ก็แปลว่าเรามีความรู้ที่จำเป็นสำหรับเจริญวิปัสสนาครบถ้วนแล้ว นอกจากนี้อรรถกถายังเสริมอีกว่า หากเคยฟังเรื่องอริยสัจ ๔ ก็นับว่ามีความรู้พื้นฐานเพียงพอแล้ว และคัมภีร์มหาฎีกาก็รับรองว่า ผู้ใดทราบว่าไม่มีสิ่งอื่นใดนอกเหนือไปจากเหตุและผล ถือว่าผู้นั้นมีความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทพอสมควรแล้ว ทั้งนี้ แม้ว่าจะไม่เคยเรียนมาก่อน โยคีก็จะรู้ได้เองเมื่อเจริญภาวนาจนสามารถเห็นชัดว่า สิ่งที่ปรากฏมีเพียงนามและรูปซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย ล้วนไม่เที่ยง ถูกบีบคั้น และไร้ซึ่งตัวตน รวมทั้งรู้ว่าจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติก็เพียงเพื่อให้ตระหนักชัดในความจริงนี้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ความรู้ที่จำเป็นจึงเกิดขึ้นได้จากการเจริญภาวนาตามคำแนะนำของวิปัสสนาจารย์
(“สีลวันตสูตร” โดย มหาสีสยาดอ)
ถาม : ต้องวิเคราะห์รูปนามและไตรลักษณ์ ตามที่ได้อ่านหรือเรียนมาหรือไม่ ?
บางท่านรู้สึกว่า เพียงแค่สังเกตอาการของใจและกายในทันทีที่ปรากฏนั้น ไม่อาจยังวิปัสสนาญาณให้เจริญขึ้นได้ ต้องพิจารณาจำแนกรูปนาม พร้อมทั้งไตรลักษณ์ด้วยจึงจะเพียงพอ แต่ในความเป็นจริง การคิดวิเคราะห์ไม่ใช่ประสบการณ์ตรงของเรา เป็นแค่ความรู้ตามตำรับตำราหรือตามที่ได้ยินได้ฟังมาจนจำได้ขึ้นใจเท่านั้น จึงไม่อาจนำมาซึ่งวิปัสสนาญาณได้ ด้วยการตามดูกายใจอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ขณะเท่านั้น ที่จะสามารถบ่มเพาะปัญญาจากประสบการณ์ตรงจนเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเฝ้าดูตรงประตูทางเข้าหมู่บ้าน เราย่อมจะเห็นทุกคนที่เดินเข้าออกได้ เราจึงไม่ต้องอ้างอิงตำราหรือสอบถามใครเลย หรือหากเราติดตั้งกระจกไว้ข้างทาง กระจกนั้นย่อมสะท้อนภาพสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านไปมา ฉันใดก็ฉันนั้น หากเราเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ประสบทางทวารทั้ง ๖ ลักษณะที่แท้จริงของปรากฏการณ์นั้น ๆ ย่อมปรากฏให้เราเห็นอย่างชัดเจนได้โดยปริยาย
(“ภารสูตร” โดย มหาสีสยาดอ)