|
สงสัยหนอ พระปัณฑิตาภิวงศ์![]() ถาม : นอกจากการนั่งและการเดิน โยคีควรระลึกรู้อะไรอีกในระหว่างวัน ?
เราควรระลึกรู้ และกำหนดการกระทำและอิริยาบถทุกอย่างตลอดวัน เช่น การเหยียดและงอแขน จับช้อน สวมเสื้อผ้า แปรงฟัน ปิดประตู เปิดประตู หลับตา รับประทานอาหาร เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ทั้งหมดควรถูกกำหนดด้วยความระลึกรู้อย่างรอบคอบพร้อมกับกล่าวคำบริกรรมเบา ๆ ในใจ
ถาม : ในระหว่างวัน โยคีจะหยุดพักการกำหนดรู้ได้บ้างหรือไม่ ?
เว้นไว้เพียงช่วงเวลาที่เราหลับสนิทเท่านั้น นอกจากนั้น เราควรรักษาความต่อเนื่องของสติตลอดเวลาที่เราตื่นอยู่ อันที่จริงการกระทำเช่นนี้มิใช่งานที่หนักหนา แต่เป็นเพียงการนั่งและการเดินโดยตามระลึกรู้สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏทางกายทางใจอย่างต่อเนื่องเท่านั้น
ถาม : ตารางเวลาการปฏิบัติในช่วงการอบรมกรรมฐานเป็นอย่างไร ?
ในช่วงการอบรมกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติทั่วไปจะนั่งกรรมฐานและเดินจงกรมในช่วงเวลาเท่า ๆ กัน สลับกันไปอย่างต่อเนื่องตลอดวัน โดยมากมักกำหนดเวลาเดินและนั่งอย่างละหนึ่งชั่วโมงเป็นมาตรฐาน แต่จะปรับเป็นช่วงละ ๔๕ นาทีก็ได้
การเจริญสติในอิริยาบถเดิน
ถาม : ทางเดินจงกรมควรยาวเท่าใด ?
ในการเดินจงกรมผู้ปฏิบัติจะกำหนดทางเดินของตนยาวประมาณ ๒๐ ก้าว และจะเดินช้า ๆ กลับไปกลับมาบนทางนั้น
ถาม : การเดินจงกรมมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันด้วยหรือ ?
การเดินจงกรมช่วงสั้น ๆ แม้เพียง ๑๐ นาทีก่อนการนั่งกรรมฐาน จะช่วยให้จิตเกิดความตั้งมั่นขึ้น นอกจากนี้ สติสัมปชัญญะที่เจริญขึ้นจากการเดินจงกรมจะมีประโยชน์ในการตามรู้การเคลื่อนไหวร่างกายหรือเดินไปในที่ต่าง ๆ ระหว่างวัน
ถาม : การเดินจงกรมช่วยสร้างเสริมคุณภาพของจิตได้อย่างไร ?
การเดินจงกรมช่วยพัฒนาความสมดุลและความแม่นยำในการระลึกรู้ รวมทั้งความตั้งมั่นของสมาธิ เราอาจสามารถสังเกตและตามรู้สภาวธรรมที่ลึกซึ้งยิ่งระหว่างที่เดินจงกรม หรืออาจถึงขั้นบรรลุมรรคผลได้เลยทีเดียว
ถาม : หากโยคีมิได้เดินจงกรมก่อนที่จะนั่งกรรมฐานจะมีข้อเสียหรือไม่ ?
โยคีที่มิได้เดินจงกรมก่อนที่จะนั่งกรรมฐานอาจเปรียบได้กับรถยนต์ที่มีแบตเตอรี่เก่าๆ โยคีผู้นั้นย่อมประสบความยากลำบากในการติดเครื่องสติเมื่อนั่งกรรมฐาน
ถาม : ขณะเดินจงกรมเราควรใส่ใจสิ่งใด และควรกำหนดรู้อย่างไรเมื่อเดินเร็วและเดินช้า ?
การเดินจงกรมประกอบด้วยการใส่ใจตามรู้อาการเดิน เมื่อเราเดินค่อนข้างเร็ว ควรกำหนดการเคลื่อนไหวของขาทั้งสองโดยบริกรรม “ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา” และใช้สติตามรู้ความรู้สึกจริง ๆ ที่ปรากฏขึ้นบริเวณขาทั้งหมด หากเราเดินช้า ควรกำหนดการยก ย่าง และเหยียบของเท้าแต่ละข้าง ในทั้งสองกรณี เราต้องพยายามประคองความระลึกรู้อยู่ที่ความรู้สึกในขณะที่เดิน
ถาม : เมื่อถึงปลายทางเดินควรทำอย่างไร ?
สังเกตว่ามีอาการอะไรบ้างที่เกิดขึ้นเมื่อเราหยุด ณ ปลายสุดทางเดิน เมื่อเรายืนนิ่งอยู่ เมื่อเราหมุนตัวกลับและเริ่มเดินอีกครั้ง
ถาม : เราควรมองดูเท้าหรือไม่ เพราะเหตุใด ?
อย่าจ้องดูเท้านอกจากจำเป็นจริง ๆ เพราะมีสิ่งกีดขวางบางอย่างอยู่บนพื้น การมีมโนภาพของเท้าในขณะที่เราพยายามจะระลึกรู้ความรู้สึกต่าง ๆ อยู่นั้น ไม่เกื้อกูลการปฏิบัติเลย เป้าหมายคือเราต้องจดจ่อที่ความรู้สึกแท้ ๆ และความรู้สึกก็มิใช่สิ่งที่รับรู้ได้ด้วยการเห็น ผู้ปฏิบัติจำนวนมากที่สามารถเข้าไปรับรู้อารมณ์ทางกายด้วยความรู้สึกสัมผัสล้วน ๆ (โดยไม่มีมโนภาพปรุงแต่ง) ต่างก็ประทับใจเมื่อได้ประสบกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น ความเบา ความรู้สึกยุบยิบตามร่างกาย ความเย็น และความอุ่น
|
Copyright 2005-2012 www.sati99.com All rights reserved.
![]() |