|
สงสัยหนอ พระปัณฑิตาภิวงศ์![]() ถาม : โยคีจะเห็นไตรลักษณ์ได้ตั้งแต่เริ่มเจริญวิปัสสนาเลยหรือไม่ ?
วิธีภาวนาสำหรับวิปัสสนายานิก (ผู้เจริญวิปัสสนาโดยไม่อาศัยสมถฌาน) มีพระบาลีว่าดังนี้
“อิธ ปเนกจฺโจ วุตฺตปฺปการํ สมถํ อนุปฺปาเทตฺวาว ปญฺจุปาทานกฺขนฺเธ อนิจฺจาทีหิ วิปสฺสติ ฯ อยํ วิปสฺสนา ฯ”
“ส่วนโยคีบางคนในพระศาสนานี้มิได้เจริญสมถะตามประเภทที่กล่าวไว้แล้ว ย่อมกำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ๕ โดยความไม่เที่ยงเป็นต้น. ปัญญานี้ชื่อว่า วิปัสสนา.”
กล่าวคือ โยคีเริ่มสังเกตเห็นขันธ์ ๕ ในฝ่ายโลกิยธรรมว่าไม่เที่ยงเป็นต้น โดยไม่ได้เจริญสมถสมาธิ คือ อุปจารสมาธิ (สมาธิที่จวนจะแนบแน่น) และ อัปปนาสมาธิ (สมาธิแนบแน่นหรือสมาธิในฌาน) กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าโยคีจะเห็นไตรลักษณ์ได้ในทันทีที่เริ่มภาวนา ถ้าโยคีไม่สามารถข่มนิวรณ์คือความคิดฟุ้งซ่านในจิตได้แล้ว ก็ไม่อาจจะรู้ชัดถึงลักษณะอันแท้จริงของใจและกายได้เลย
การชำระจิตให้ปราศจากนิวรณ์ต่าง ๆ นั้น จะต้องบ่มเพาะ ขณิกสมาธิ (สมาธิชั่วขณะ) ด้วยวิปัสสนา เมื่อนั้นโยคีจึงจะได้เห็นลักษณะของนามรูปตามความเป็นจริง กล่าวคือ เกิด นามรูปปริจเฉทญาณ (ปัญญาแยกแยะนามรูป) แล้วต่อด้วย ปัจจยปริคคหญาณ (ปัญญาหยั่งรู้ความเป็นเหตุปัจจัย) และ สัมมสนญาณ (ปัญญาหยั่งรู้ไตรลักษณ์) ตามลำดับ ซึ่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้อธิบายประเด็นนี้ไว้อย่างละเอียด ส่วนพระบาลีข้างต้นที่ว่า “ย่อมกำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ๕ โดยความไม่เที่ยงเป็นต้น” เป็นการกล่าวโดยย่อเท่านั้น เพราะหากตีความว่าโยคีที่เริ่มภาวนาจะสามารถเห็นไตรลักษณ์ได้เลย ก็ย่อมขัดแย้งกับอรรถาธิบายในคัมภีร์วิสุทธิมรรค อีกทั้งไม่สอดคล้องกับวิถีแห่ง วิสุทธิ ๗ [ลำดับขั้นแห่งความบริสุทธิ์หมดจดซึ่งเป็นปัจจัยส่งต่อ ๆ กันจนถึงพระนิพพาน–ผู้แปล] ด้วยเหตุนี้ การตีความเช่นนั้นจึงไม่ถูกต้อง
(“อริยอัฏฐังคิกมรรค” โดย มหาสีสยาดอ)
ถาม : เพียงบริกรรมว่า “เกิดขึ้นแล้วดับไป” โดยไม่ได้ระลึกรู้รูปนามที่กำลังเกิดดับอยู่จริงแล้ว วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ?
หากไม่เห็นอาการของใจและกายตามที่เป็นจริงโดยตรงแล้ว ย่อมไม่อาจหยั่งรู้ไตรลักษณ์ของรูปนามได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่เห็นสายฟ้าในขณะที่ฟ้าผ่าพอดี ก็จะไม่รู้เลยว่าสายฟ้าเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างไร ฉันใดก็ฉันนั้น หากไม่สังเกตปรากฏการณ์ทางจิตและกายในทันทีที่เกิดขึ้น เราย่อมไม่กระจ่างในความไม่เที่ยงเป็นต้น จึงสรุปได้ว่า ญาณหยั่งรู้ไตรลักษณ์ไม่อาจปรากฏขึ้นเพียงเพราะท่องว่า “เกิดขึ้นแล้วดับไป” โดยไม่ได้ระลึกรู้รูปนามที่กำลังเกิดดับอยู่จริง ๆ ฉะนั้นพึงตระหนักว่า โยคีจะต้องสังเกตเห็นรูปนามที่เกิดดับอยู่ในปัจจุบันขณะ จนประจักษ์ชัดในความไม่เที่ยงเป็นต้นของปรากฏการณ์ต่าง ๆ จึงจะเป็นวิปัสสนาญาณที่แท้จริง
(“อริยอัฏฐังคิกมรรค” โดย มหาสีสยาดอ)
ถาม : ต้องระบุชื่อ แยกประเภท หรือสร้างมโนภาพ ขณะระลึกรู้รูปนามด้วยหรือไม่ ?
โยคีพึงสังเกตใจและกาย แต่ควรสังเกตอย่างไรเล่าจึงจะถูกต้อง ? จำเป็นจะต้องระบุชื่อและแยกชนิดของอารมณ์ที่ปรากฏ หรือนึกเห็นเป็นภาพด้วยหรือไม่ ? ตอบว่า ไม่จำเป็นต้องระบุ เพราะชื่อไม่มีความสำคัญใด ๆ เลย และไม่ต้องแจกแจงว่าเป็นรูป เป็นนาม เป็นจิตหรือเจตสิกแต่อย่างใด
ยิ่งกว่านั้น มีบางท่านภาวนาโดยนึกถึงสภาวธรรมนั้น ๆ ให้ปรากฏเป็นภาพคล้ายเม็ดฝุ่น แต่ในความเป็นจริง ผงฝุ่น (รูป) แสดงลักษณะได้ทางสีและสัมผัสทางกายเท่านั้น นอกจากนี้รูปธรรมจำพวกเสียง กลิ่น และรส ก็ไม่สามารถจินตนาการเป็นเม็ดฝุ่นได้ หรือแม้ว่าท่านจะสร้างมโนภาพให้รูปธรรมเหล่านั้นได้ ก็คงไม่อาจนึกเห็นนามธรรมเป็นผงฝุ่นได้ ยกตัวอย่างเช่น วิญญาณ (การรับรู้) จะนึกเป็นรูปร่างได้ไหม ? เราอาจจะรับรู้ความโลภ ความโกรธ หรือทุกขเวทนาได้อย่างชัดเจน แต่เราจะวาดมโนภาพอย่างไร ?
ที่ถูกต้องคือโยคีพึงระลึกรู้ธรรมชาติของอารมณ์นั้น ๆ ตามที่ปรากฏจริง ซึ่งสามารถรับรู้ได้ในแง่ลักษณะ, กิจ (หน้าที่), อาการปรากฏ (ผล) และเหตุใกล้ (สาเหตุ) ข้อนี้อาตมาไม่ได้นึกขึ้นเอง แต่กล่าวตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค พระคัมภีร์นี้อาจจะยากเกินไปสำหรับบางท่าน แต่คู่มือศึกษาพระอภิธรรมที่ชื่ออภิธัมมัตถสังคหะย่อมเป็นรู้จักกันดีในหมู่ผู้ศึกษาพระบาลี ซึ่งได้กล่าวไว้ดังนี้
“ลกฺขณรสปจฺจุปฏฺฐานปทฏฺฐานวเสน นามรูปปริคฺคโห ทิฏฺฐิวิสุทฺธิ นาม ฯ”
“การกำหนดรู้รูปนาม ด้วยสามารถแห่ง ลักษณะ ๑ รส (กิจ) ๑ ปัจจุปัฏฐาน (อาการปรากฏ) ๑ และปทัฏฐาน (เหตุใกล้) ๑ ชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์แห่งความเห็น).”
นักเรียนปริยัติตลอดจนสามเณรตัวน้อย ๆ มักจะท่องจำข้อความนี้ได้ขึ้นใจกันทั้งนั้น อาตมาก็ท่องได้ตั้งแต่ยังเด็ก และยังคงจำได้แม่นยำ หากใครลืมเสียแล้วก็เป็นได้ที่เขาจะหลงไปภาวนาด้วยการจินตนาการอารมณ์ต่าง ๆ ให้เป็นเสมือนเม็ดฝุ่นแทน
(“อริยวสสูตร” โดย มหาสีสยาดอ)
|
Copyright 2005-2012 www.sati99.com All rights reserved.
![]() |